ไปทำงานต่างประเทศ ต้องเตรียมอะไรบ้าง 2567

สำหรับท่านที่กำลังมองหาหนทาง ทางเลือก โอกาสและประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับชีวิต การตัดสินใจทิ้งอดีตเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ด้วยการเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งจากข้อมูลข่าวสารที่เรา ๆ ได้รับรู้นั้น ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ว่า การไปทำงานต่างประเทศนั้นก็มีทั้งคนที่ทำสำเร็จเก็บเงินมากมายกลับบ้าน หรืออาจจะมีโอกาสได้สร้างครอบครัววางรกรากในต่างประเทศ และก็มีอีกมากมายที่ล้มเหลวต้องกลับมามือเปล่า ดังนั้นในครั้งนี้ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือทุกท่านที่ยังกังวลและสงสัยว่าการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ต้องเตรียมอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร วันนี้เราจะพาไปดูรายละเอียดกัน

 

ไปทำงานต่างประเทศ ถูกต้องตามกฎหมาย

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่เราจะนำเสนอนั้น ทั้งหมดจะเป็นการแนะนำข้อมูลสำหรับการเดินทางไปทำงานต่างประเทศที่ถูกกฎหมายเป็นสำคัญ ทั้งนี้เพราะเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจกับพี่น้องแรงงานทุกท่านที่วาดฝันไว้สวยงามว่าจะสามารถเดินทางไปทำงานในต่างแดนได้แบบสบาย ๆ โดยในความเป็นจริงนั้น จากข้อมูลเชิงลึกของกระทรวงแรงงานและกระทรวงการต่างประเทศพบว่า ระยะเวลาที่ผ่านนั้น มีคนไทยจำนวนไม่น้อยเลยที่มีความพยายามจะไปทำงานในต่างประเทศโดยอาศัยช่องทางที่ไม่ถูกกฎหมาย เช่น การเป็นผีน้อย การเป็นโรบินฮู้ดซึ่งทั้งหมดเป็นการเข้าประเทศโดยไม่ได้รับวีซ่าทำงาน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศในรุ่นหลัง ๆ ดังนั้น หากท่านต้องการไปทำงานต่างประเทศ วันนี้เรามีข้อมูลดี ๆ น่าสนใจมานำเสนอให้ทุกท่านสามารถเตรียมตัว เตรียมใจและเตรียมเอกสารทั้งหมดให้พร้อมได้ เราไปดูกัน

สิ่งที่พิจารณาก่อนไปทำงานต่างประเทศ

สำหรับแรงงานไทยที่หวังว่าจะได้ไป “ขุดทอง” หรือทำงานหาเงินในต่างประเทศทุกท่านนั้น ก่อนที่ท่านจะดำเนินการติดต่อและเตรียมเอกสาร การเดินทางไปทำงานต่างประเทศจะมีความแตกต่างไปจากการเดินทางไปท่องเที่ยวอยู่มากพอสมควร ซึ่งทุกท่านควรจะต้องคิดและพิจารณา เพื่อประเมินความพร้อมของตนเองก่อนการเดินทาง ซึ่งประเด็นที่ทุกท่านต้องคิดและอาจจะต้องปรึกษาหาข้อมูลให้ดีเพื่อประกอบการตัดสินใจนั้น วันนี้เราขอนำเสนอเป็นข้อ ๆ ดังนี้

  • ทักษะฝีมือ ประเด็นแรกนี้คือปัจจัยหลักที่จะบ่งชี้ได้ชัดเจนว่าท่านควรเดินทางไปทำงานในประเทศใด เพราะการกำหนดและเปิดรับแรงงานต่าง ๆ นั้น จะมีการประกาศรับสมัครตามงาน และทักษะ ซึ่งทุกท่านจะต้องรู้จักตนเอง และต้องมีทักษะตรงตามความต้องการนั้น ๆ เพราะมิฉะนั้นหากท่านเดินทางไปทำงานต่างประเทศในฐานะแรงงานไร้ฝีมือ หรือไม่มีทักษะใด ๆ เลย โอกาสที่จะได้ค่าแรงหรือค่าจ้างที่สมเหตุสมผลนั้นก็จะยากไปด้วยนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น แรงงานก่อสร้าง ก็ควรเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลางซึ่งกำลังต้องการแรงงานในการก่อสร้าง เป็นต้น
  • สุขภาพ แรงงานที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ประเด็นเรื่องของสุขภาพคือสิ่งสำคัญสูงสุด เพราะท่านจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำงาน และการดำเนินชีวิตในต่างแดน ซึ่งจะมีความยากลำบากมากว่าการใช้ชีวิตในประเทศไทย ซึ่งท่านอาจจะมีสวัสดิการของประกันสังคมดูแล เพราะหากเจ็บป่วยในต่างแดนนั้น ต้องขอบอกเลยว่า ค่ารักษาพยาบาลนั้นจะแพงมาก ๆ และเราเองจะถูกปัดเข้าไปอยู่ในฐานะประชากรชั้นสอง ซึ่งจะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใด ๆ
  • อัตราค่าจ้าง ส่วนนี้ทุกท่านสามารถดำเนินการเปรียบเทียบเป็นอัตราค่าจ้างกับค่าครองชีพได้ทันที ซึ่งหากค่าตอบแทนนั้นมีโอกาสที่จะได้รับสูงกว่าการทำงานในบ้านเรา 4 – 5 เท่า งานนั้นจึงจะเป็นงานที่มีความน่าสนใจและจะคุ้มค่าต่อการเดินทางไปทำงานต่างประเทศ
  • ค่าใช้จ่ายและเงินสำรอง การเดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้น หลายครั้งที่ท่านจะต้องมีเงินค้ำประกัน ซึ่งส่วนใหญ่นั้นจะเป็นข้อบังคับของการเดินทางไปทำงานในหลาย ๆ ประเทศซึ่งเป็นการป้องกันการเดินทางไปเป็น ผีน้อยหรือการลักลอบเข้าเมือง และที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงการหนีหนี้สินในประเทศนั่นเอง และยิ่งไปกว่านั้น การเตรียมเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นระหว่างการปรับตัว ทุกท่านจึงควรมีเงินก้อนสำรองไว้ให้พร้อมเช่นกัน

ขั้นตอนการเตรียมพร้อมไปทำงานต่างประเทศ

ในส่วนนี้ต้องขอย้ำชัด ๆ อีกครั้งว่าการเดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้น ทุกท่านควรศึกษาและหาข้อมูลสำหรับกฎหมายและข้อบังคับการเข้าทำงานในแต่ละประเทศ ซึ่งจะมีความแตกต่างกันและไม่เหมือนกันแน่นอน โดยต่อจากนี้เราจึงใคร่ขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศสำหรับทุกท่านกัน

เตรียมเงินสำรอง

อย่างที่นำเสนอไปแล้วว่าเงื่อนไขและข้อบังคับของบางประเทศนั้น จะมีข้อกำหนดมากมายซึ่งท่านอาจจะต้องใช้เงินในการดำเนินการ และยิ่งไปกว่านั้น การเตรียมตัวทั้งหมดนั้น ย่อมต้องใช้เงินในการจัดการไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพ เตรียมเอกสาร การวางเงินประกันและอื่น ๆ อีกหลายประเด็น ซึ่งอย่างน้อยท่านควรจะมีเงินเตรียมไว้พอสมควรไม่น้อยกว่า 2 – 3 หมื่นบาท

เตรียมตรวจสุขภาพ

การเข้าตรวจสุขภาพนั้น นอกจากจะเป็นการตรวจเช็คสุขภาพทั่วไปและเช็คความพร้อมของตัวท่านเองสำหรับการเดินทางไปต่างแดนแล้ว การตรวจสุขภาพยังสามารถเป็นการตรวจโรคเบื้องต้น เพื่อเป็นการเตรียมเอกสารสำหรับการหาเชื้อและโรคต้องห้ามในประเทศนั้น ๆ ที่ท่านกำลังจะเดินทางไปนั่นเอง

เตรียมเอกสาร

ทุกอย่างต้องเตรียมเอกสารทั้งหมดตามที่หน่วยทั้งของไทยและประเทศปลายทางนั้นมีการเรียก โดยประเด็นสำคัญในส่วนนี้คือ การเตรียมเอกสารสำหรับภาษาอังกฤษ ซึ่งเอกสารบางรายการนั้นท่านอาจจะต้องดำเนินการแปลและเตรียมพร้อมให้มีความเหมาะสมกับประเทศที่ท่านต้องการเดินทางไปทำงานนั่นเอง โดยมีรายการคร่าว ๆ ดังนี้

  • ใบผ่านการตรวจโรค
  • หนังสือเดินทาง
  • วีซ่า
  • สัญญาจ้างงาน
  • สัญญาจัดหางาน
  • ใบรับเงินค่าบริการและค่าใช้จ่าย
  • เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น หนังสือรับรองการผ่านงาน เอกสารรับรองการฝึกอาชีพ เป็นต้น

ประเทศนั้นควรมีกงสุลหรือสถานทูตไทย

แม้ว่าอาจจะดูไม่ค่อยจำเป็น แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เกิดภัยพิบัติ เกิดสงคราม การเดินทางไปทำงานในต่างแดนในประเทศที่อย่างน้อยเราจะมีเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยคอยดูแลและให้ความช่วยเหลือนั้น ย่อมจะดีกว่าไม่มีแน่นอน เพราะจากเหตุการณ์หลาย ๆ ครั้งที่เกิดปัญหาในต่างแดน หน่วยงานที่จะเข้าให้ความช่วยเหลือแบบเร่งด่วนที่สุดสำหรับแรงงานในต่างแดนนั้น ก็จะเป็นสถานกงสุลหรือสถานทูตไทยในประเทศนั้น ๆ ซึ่งหากไม่มีแล้วล่ะก่อ แทบจะหมดหนทางที่จะเดินทางกลับบ้านหรือได้รับความช่วยเหลือกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม แม้ท่านอาจจะเตรียมความพร้อมแบบ 100% แล้ว แต่ก็อาจจะมีข้อบกพร้องและอาจต้องแก้ไขบ้าง ซึ่งในส่วนนี้เราก็ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจ สนับสนุนให้ท่านดำเนินการอย่างใจเย็นและที่สำคัญคือ “อย่าหลงเชื่อ” คำโฆษณาซึ่งอาจจะเป็นกลโกงที่หลอกล่อให้ท่านเสียเงิน โดยวิธีการไปทำงานต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ทุกท่านสามารถเข้าติดตามข่าวสารและรายละเอียดได้ทันทีผ่านแนวทางดังนี้

  • บริษัทจัดหางานเอกชนซึ่งมีการขึ้นทะเบียนไว้กับ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ
  • กรมการจัดหางานจัดส่ง
  • เดินทางไปทำงานด้วยตัวเอง
  • นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
  • นายจ้างใยประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน

โดยทุกท่านสามารถเข้าดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ ซึ่งเป็นรายละเอียดและข้อมูลโดย กระทรวงแรงงาน หรือโทร. 1506

อ้างอิง 1 2