

วิธีเขียนอีเมล์ email ภาษาอังกฤษธุรกิจแบบมืออาชีพ
การติดต่อประสานงาน และการเจรจาทางธุรกิจในปัจจุบันแทบจะหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้เลย โดยเฉพาะทักษะการเขียนภาษาอังกฤษธุรกิจ อันกล่าวกันว่าเป็นหนึ่งใน Skill ปราบเซียนที่อาจทำให้กำแพงภาษาเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ แต่ท่านไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะบทความนี้มีตัวช่วย
การเขียนอีเมล์ (email) ไม่ว่า Gmail หรือ Hotmail ในภาษาไทยเพียงลำพังก็ยากอยู่แล้วที่จะเรียบเรียงถ้อยคำให้กระชับ สวยงาม และเป็นทางการ ยิ่งต้อง เขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษ แล้วเป็น ภาษาอังกฤษธุรกิจ ด้วย อาจทำให้หลายคนอกสั่นขวัญผวากันไปตาม ๆ กัน กระนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนแล้วแต่มีรูปแบบ (pattern) ที่หากเราเข้าใจเทคนิคหรือเคล็ดลับแล้ว ก็จะสามารถช่วยเพิ่มพูนความมั่นใจใน การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ มากขึ้นเป็นทบทวี หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น กลเม็ดมัดใจ (wow factor) ในการเขียน อีเมล์ ของเรา
วันนี้ เราจึงขอเสนอ 7 เทคนิค เขียนอีเมล์ (Email) ภาษาอังกฤษธุรกิจ ชั้นเซียน ที่ทำให้ฝรั่งผู้รับอีเมล์ของเราต้องร้องว้าวด้วยความชื่นชม แล้วเข้าใจผิดนึกว่าฝรั่งเป็นคนเขียนเลยทีเดียว พร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลย
สารบัญ
- เขียนอีเมล์ให้สั้นกระชับ (Always be brief)
- ใส่ข้อมูลติดต่อในอีเมล์ Signature ให้ครบถ้วน
- ตั้งหัวข้ออีเมล์อย่างเป็นมืออาชีพ
- ใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจผู้รับอีเมล์
- ใช้ชั้นเชิงของภาษาให้เกิดประโยชน์ในการเขียนอีเมล์
- ใช้ภาษาเป็นทางการเท่าที่จำเป็นในอีเมล์
- ก่อนส่งอีเมล์ ให้ตรวจเช็คความถูกต้องของไวยากรณ์และการสะกดคำเสมอ
- สรุป
1.เขียนอีเมล์ ให้สั้นกระชับ (Always Be Brief)
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเขียนอีเมล์ ไม่ใช่เรียงความหรือบทความที่เราจะต้องใส่เนื้อหาทั้งหมดลงไป เนื่องจากความสนใจและเวลาของผู้อ่านอีเมล์ของเรามีข้อจำกัด ฉะนั้น เราจึงต้องวางแผนให้ดีว่าต้องการให้คนที่อยู่ปลายทางรับรู้ เข้าใจ หรือทำอะไร ด้วยข้อความสั้น ๆ ไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ก่อนอื่นให้เราถามตนเองก่อนว่าเราเขียนอีเมล์นี้ขึ้นมาเพื่ออะไร โดยอาจทำ Bullet point ง่าย ๆ ขึ้นมาบนกระดาษ เช่น
- เราต้องการให้เขาทำอะไร
- เราต้องการให้เขารับรู้หรือเข้าใจอะไร
- ถ้าเราเป็นคนอ่าน เราต้องการอะไรจากอีเมล์ฉบับนี้
- ถ้าเราเป็นคนอ่าน เราจะใช้เวลาเท่าไหร่ในการอ่านอีเมล์ฉบับนี้
- ถ้าเราเป็นคนอ่าน ทำไมเราต้องหยุดอ่านอีเมล์ฉบับนี้ทันที
พอเราทำ Bullet Point เสร็จแล้ว ก็ให้เราเขียนคำตอบสั้น ๆ กำกับลงไป เช่น เราต้องการให้เขาทำอะไร ถ้าเป็นจดหมายสมัครงาน ก็ต้องการให้ผู้อ่านพิจารณารับเราเข้าทำงาน หรือหากเป็นอีเมล์เสนอสินค้า เราก็ต้องการให้เขาเกิดความสนใจในสินค้าของเรา หรือ ถ้าเราเป็นคนอ่าน ทำไมเราต้องการอะไรจากอีเมล์ฉบับนี้ ในกรณีที่มีคนอีเมล์มาเสนอสินค้า เราก็ต้องการสรรพคุณ ข้อมูลโดยสังเขป และลิงก์ที่สามารถนำเราไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้า รีวิว และรายละเอียดอื่น ๆ ได้ เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้ว ก็มาถึงขั้นลงมือเขียน
หลักง่าย ๆ ของ การเขียนอีเมล์ ให้กระชับ คือ การจัดวางย่อหน้าให้มีความสำคัญลดหลั่นกันลงไป ย่อหน้าแรก ในกรณีที่เราไม่รู้จักผู้รับอีเมล์ ควรเป็นการแนะนำตัว ตำแหน่ง และจุดประสงค์ของการเขียนอีเมล์ดังกล่าว ย่อหน้าต่อมา ควรเป็นเนื้อหาหรือสารที่เราต้องการนำเสนอให้กับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสินค้า/บริการ สิ่งที่เราต้องการให้ผู้รับอีเมล์กระทำหรือช่วยเหลือ และจบย่อหน้าสุดท้ายด้วยข้อความแสดงความขอบคุณ ช่องทางในการติดต่อ และลิงก์หรือช่องทางในการหาข้อมูลเพิ่มเติม เพียงแค่ 3 ย่อหน้า ความยาวไม่เกิน 1 หน้ากระดาษ A4 ก็จะทำให้เราเขียนอีเมล์คุณภาพขึ้นมาได้โดยใช้เวลาไม่นาน แถมยังสั้น กระชับ และตรงประเด็นอีกด้วย
เทคนิคการเขียนอีเมล์ สั้นกระชับ ตรงประเด็น ด้วย 3 ย่อหน้า
- ย่อหน้าที่ 1 : แนะนำตัว จุดประสงค์ของการเขียนอีเมล์
- ย่อหน้าที่ 2 : เนื้อหาสาระที่เราต้องการให้ผู้รับอีเมล์รับทราบ กระทำ หรือเกิดความสนใจ
- ย่อหน้าที่ 3 : ข้อความแสดงความขอบคุณ ช่องทางในการติดต่อ และหาข้อมูลเพิ่มเติม
ตัวอย่าง การเขียนแนะนำตัวใน อีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ
– Just a couple of lines to introduce myself. My name is Somchai and I am responsible for marketing for Srinak cooperation. I’m based in Chiang Mai.
– Just a quick introduction: my name is Wittaya, I head up marketing business here in Lampang.
ตัวอย่าง การเขียนเนื้อหาสาระให้ผู้รับอีเมล์ทราบ
– I am contracting you because we need to recruit some HR staffs for our office in Rayong.
– I am now collecting information on what is currently in place and our customers would love to have. Given your role, I would love to pick your brains on this process.
ตัวอย่าง การเขียนแสดงความขอบคุณ และช่องทางในการติดต่อ
– I look forward to hearing from you, please feel free to contact me via …..@gmail.com or simply call me at xxx-xxxx-xxxx
– Thanks in advance, for more details, please call me xxx-xxxx-xxxx

2.ใส่ข้อมูลติดต่อใน Signature ให้ครบถ้วน
ปัจจุบัน อีเมล์ ไม่ว่าจะเป็น Gmail หรือ Hotmail เราสามารถเพิ่มข้อมูลติดต่อ (contact information) ในส่วนของลายเซ็น (Signature) ได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะปรากฎอยู่ในอีเมล์ของเราตลอดโดยไม่ต้องเพิ่มใหม่ทุกครั้งที่ส่งอีเมล์ โดยหลัก ๆ แล้ว ข้อมูลติดต่อที่เราควรใส่ลงใน Signature ควรประกอบด้วย
- ชื่อ – สกุล (Name)
- ตำแหน่ง (Position)
- บริษัท/สังกัด (Company
- แผนก (Department/Division/Branch)
- หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ ทั้งมือถือและเบอร์ที่ทำงาน (Phone Number)
- อีเมล์สำหรับติดต่อ (Email Address)
- Line, Facebook, เว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียที่ติดต่อได้
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ใส่ในลายเซ็นอีเมล์ ควรมีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ตัวอย่าง ข้อมูลติดต่อใน Signature อีเมล์
วิรัช ธานี (Wirat Thani)
หัวหน้าแผนกครีเอทีฟ (Head of Creative Department)
บริษัท เพลินตาเพลินใจ มาร์เกตติ้ง (Pleon Ta Ploen Jai Marketing)
xxx-xxxx-xxxx wiratthani@gmail.com
3.ตั้งหัวข้ออีเมล์อย่างเป็นมืออาชีพ
หัวข้ออีเมล์เปรียบได้ดั่งประตูบานแรกสู่เนื้อหาที่เราต้องการเสนอแก่ผู้รับ หากเราตั้งใจเขียนอีเมล์อย่างถูกตั้งตามหลักการเป๊ะๆ แต่มาตกม้าตายที่ผู้รับไม่เปิดอ่านอีเมล์เพราะคิดว่าเป็นสแปมล่ะ เป็นความรู้สึกที่แย่มากเลยใช่ไหมล่ะ เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องพิถีพิถันกับการตั้งหัวข้ออีเมล์สักหน่อย อาจจะดูหยุมหยิมไปบ้าง แต่การตั้งหัวข้ออีเมล์ที่ดี เป็นมืออาชีพ และตรงประเด็นจะช่วยประหยัดเวลาในการสื่อสารกับผู้รับในระยะยาวไปได้ไม่น้อย โดยหลักแล้ว หัวข้ออีเมล์ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
- ตรงประเด็นต่อผู้รับ
- กระตุ้นให้ผู้รับอยากเปิดอีเมล์เราอ่าน
- เตือนผู้รับว่าควรอ่านอีเมล์โดยเร็วหรือทันที่ได้รับ
- ค้นหาง่ายในกล่องอีเมล์ขาเข้า (Mailbox)
- สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้ทันทีว่าเกี่ยวกับอะไร
ตรงประเด็นต่อผู้รับ: หัวข้ออีเมล์ของเราควรมีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งหรือหน้าที่การงานของผู้รับ เช่น หากเราต้องการส่งอีเมล์สมัครงาน เราก็ควรต้องใส่คีย์เวิร์ด ‘สมัครงาน’ ลงไปในอีเมล์ของเราด้วย เพื่อสร้างความเกี่ยวข้องกับผู้รับ เมื่อเขาได้รับแล้วก็ต้องเปิดเพราะเป็นส่วนหนึ่งของงาน ไม่ใช่อีเมล์สแปมที่ไหน
กระตุ้นให้ผู้รับอยากเปิดอีเมล์เราอ่าน: การตั้งหัวข้ออีเมล์ก็ไม่ต่างจากการตั้งชื่อบทความหรือชื่อคลิปวิดีโอที่เราต้องการให้คนเข้ามาอ่านหรือดูเยอะ ๆ แต่การกระตุ้นในที่นี่ไม่ได้หมายความจะต้องเรียกร้องความสนใจแบบ Click bait อะไรกันขนาดนั้น โดยเราอาจใส่ข้อความเชิงข้อร้อง please หรือ quick favor ให้ผู้รับเห็นว่าเราต้องการความช่วยเหลือจริง ๆ หรืออยากให้เปิดอ่านอีเมล์ของเราจริง ๆ
เตือนผู้รับว่าควรอ่านอีเมล์โดยเร็วหรือทันที่ได้รับ: เทคนิคนี้ขอเตือนไว้ก่อนว่าใช้ได้ แต่อย่าใช้บ่อย มิฉะนั้น จะสร้างความรำคาญต่อผู้รับอีเมล์มากกว่าการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ กรณีนี้เราอาจจะใส่คำว่า ‘Urgent!’ ไว้ข้างหน้าหัวข้ออีเมล์เพื่อแสดงความเร่งด่วนให้ผู้รับอีเมล์ร้อนใจอยากเปิดเข้ามาอ่านทันทีที่ได้รับ ทั้งนี้ เนื้อหาอีเมล์ของเราควรมีความสัมพันธ์กับหัวข้อด้วย ไม่ใช่ตั้งชื่อหัวข้อว่า ด่วน! แต่เปิดเข้ามาเป็นอีเมล์ขายถั่งเช่าก็คงไม่ใช่นะ
ค้นหาง่ายในการกล่องอีเมล์ขาเข้า: การที่อีเมล์ของเราจะค้นหายากหรือง่ายใน Mailbox ของผู้รับนั้นมีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคีย์เวิร์ดที่เราใส่ลงในหัวข้อของเรา เพราะฉะนั้น หัวข้อของอีเมล์เราควรมีคีย์เวิร์ดที่จัดประเภทหมวดหมู่ได้ง่าย เช่น [สมัครงาน] หรือ [เทคนิค SEO] ซึ่งช่วยให้ผู้รับที่มีความเกี่ยวข้องกับคีย์เวิร์ดดังกล่าวสามารถ Search หาอีเมล์ของเราได้ง่าย โดยไม่จมหายไปในกองอีเมล์ Spam ต่าง ๆ นั่นเอง
สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้ทันทีว่าเกี่ยวกับอะไร: เช่นเดียวกับเนื้อหาอีเมล์ หัวข้ออีเมล์ของเราก็ควรที่จะมีความสั้น กระชับ ตรงไปตรงมา กวาดตาดูรวดเดียวก็รู้ได้เลยว่าเป็นอีเมล์เกี่ยวกับอะไร ต้องการอะไร และมีความเร่งด่วนขนาดไหน เช่น ถ้าเราจะส่งอีเมล์ไปสมัครงานในตำแหน่งหนึ่งเราก็ควรระบุให้ชัดไปเลยในหัวข้อว่าอีเมล์ของเราเกี่ยวกับอะไร ต้องการอะไร เช่น Wichai Pisut. Request for interview for position as SEO specialist เป็นต้น
4.ใช้วาทศิลป์ในการโน้มน้าวใจ
นอกเหนือจากสไตล์ การเขียนอีเมล์ ให้อ่านง่าย กระชับ ได้ใจความ การใช้ระดับของสำนวนภาษาอังกฤษ และจิตวิทยาในการโน้มน้าวให้ผู้รับอีเมล์ยอมทำในสิ่งที่เราต้องการก็มีความสำคัญมากเช่นกัน แน่นอนว่า ชั้นเชิงการใช้ภาษาหรือทักษะความสามารถทางวรรณศิลป์ของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ มักจะมีรูปแบบการใช้ระดับของภาษาที่เป็นแบบแผน (pattern) อยู่พอสมควร ฉะนั้น เราสามารถนำแบบแผนดังกล่าวมาปรับใช้กับ การเขียนอีเมล์ ของเราได้ ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่าง การใช้ภาษาสำหรับการขอร้อง
– I know that you are very busy but…
– I really need your help to
– Sorry to bother you but…
– Any comments you may have, would be very much appreciated
– I cannot sort this out by myself
ตัวอย่าง การใช้ภาษาเพื่อเน้นย้ำความสำคัญ
– We would like to point out that
– As far as we know
– Please note that
– May We take opportunity to
– We also like to take this opportunity to bring to your attention…
ตัวอย่าง การใช้ภาษาสำหรับการนัดหมาย
– Can we arrange a meeting on…
– Would it be possible for us to meet on…
– Let’s arrange to meet and we an discuss about this
ตัวอย่าง การใช้ภาษาเพื่อสอบถามรายละเอียดกับสินค้าและบริการ
– We are considering buying
– We urgently need
– Could you also let us know if you are prepared to…
– Will you please let us know whether you could supply…
– Please send up price list for…
– Could you send us further details of…
5.ใช้ชั้นเชิงภาษาให้เกิดประโยชน์ในการเขียนอีเมล์
การใช้ชั้นเชิงของภาษาให้เป็น คือ สิ่งที่จำเป็นสำหรับการเขียนเพื่อประสานงานทุกชนิด ใน การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ บางครั้งเราต้องการสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อม ซึ่งในบางครั้งเราก็ต้องลองประมาณการความรู้สึกของผู้รับอีเมล์ด้วยเช่นกัน หากเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไรขณะที่อ่านข้อความที่เราเขียนขึ้น ด้วยเหตุนี้ ในบางครั้งเราอาจต้องใช้ชั้นเชิงของภาษาในการสื่อความให้สละสลวยและมีความสุภาพมากขึ้น ถือว่าเป็นการถนอมน้ำใจและจูงใจให้ผู้รับอีเมล์เกิดความรู้สึกต่อเรา ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่าง การใช้ชั้นเชิงภาษาในการแสดงความคิดเห็น
แทนที่เราจะคอมเมนต์ว่า ‘Your assignment is okay’ เราอาจเขียนไปว่า ‘It’s looking really good and I like the way you’ve used statistics’
หรือแทนที่จะเขียนตอบไปแบบสั้น ๆ ห้วน ๆ ว่า ‘It looks fine’ เราอาจลองเพิ่มถ้อยคำไปว่า ‘Overall it looks satisfying and the conclusions are quite obvious’
เพียงเท่านี้เราก็สามารถซื้อใจผู้รับอีเมล์ของเราได้แล้ว เพียงแค่การเปลี่ยนหรือเพิ่มถ้อยคำอีกไม่กี่คำ เพราะการเขียนอีเมล์เป็นการสื่อสารทางเดียวโดยที่อีกฝ่ายไม่มีโอกาสได้เห็นสีหน้าท่าทางของเรา เพราะฉะนั้น เขาย่อมต้องมีการตีความถ้อยคำที่เราเขียน ในแง่ร้ายที่สุด อาจตีความผิดไปเลยก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ขอให้เราลองคิดถึงความรู้สึกของผู้รับอีเมล์ แล้วลองใช้เทคนิคชั้นเชิงภาษาปรับการเขียนอีเมล์ของเราให้ Soft มากขึ้น

6.ในอีเมล์ ให้ใช้ภาษาเป็นทางการเท่าที่จำเป็น
แน่นอนว่าการใช้ภาษาทางการใน การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ เป็นสิ่งที่จำเป็น อย่างไรก็ตาม หากเราได้รู้จักมักคุ้นกับผู้รับอีเมล์ของเรามาระดับหนึ่งแล้ว การใช้ภาษาแบบไม่เป็นทางการจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและสนิทใจมากกว่า ซึ่งช่วยให้การประสานงานราบรื่นและผ่อนคลายเหมือนเราคุยกับเพื่อนนั่นเอง ตัวอย่างการแปลงภาษาทางการ ให้อยู่ในรูปแบบไม่เป็นทางการก็มีอยู่ไม่น้อย ที่เราใช้ในการเขียนอีเมลหลักๆ ยกตัวอย่างเช่น
ตัวอย่าง การเปลี่ยน ภาษาทางการ เป็น ภาษาไม่เป็นทางการ ในการเขียนอีเมล์
– We have pleasure in confirming the acceptance of your order (เป็นทางการ)
This is to confirm that your order has been accepted (ไม่เป็นทางการ)
– It is necessary that I have the assignment by Monday (เป็นทางการ)
Please could I have the assignment by Monday (ไม่เป็นทางการ)
– You are requested to acknowledge this email (เป็นทางการ)
Please acknowledge this email (ไม่เป็นทางการ)
ข้อสังเกต: จะเห็นได้ว่า การเขียนอีเมล์ ด้วยรูปแบบไม่เป็นทางการ นอกจากจะช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมิตรและเป็นกันเองแล้ว ยังช่วยให้อีเมล์ของเราสั้นลง น่าอ่านมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
7.ก่อนส่งอีเมล์ ให้ตรวจเช็คความถูกต้องของไวยากรณ์และการสะกดคำเสมอ
สิ่งที่สำคัญที่สุดของ การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ คือ การตรวจเช็คความถูกต้องของไวยากรณ์และการสะกดคำต่าง ๆ เพราะการพิมพ์ผิดนอกจากจะแสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดที่สร้างความเสียหายมหาศาลได้อีกด้วย โดยหลักแล้ว ก่อนที่เราจะส่งอีเมล์ ควรที่จะหยุดพักไว้ก่อนสักสองสามนาที เดินไปชงกาแฟหรือไปเข้าห้องน้ำ อย่าส่งหลังจากพิมพ์เสร็จทันที เพราะเราจะอยู่ใกล้กับตัวงานมากจนมองไม่เห็นข้อผิดพลาด หลังเขียนอีเมล์เสร็จให้เราทิ้งไว้สักพัก แล้วกลับมานั่งอ่านทวนทั้งหมดอีกครั้ง โดยมีจุดที่เราต้องให้ความสำคัญในการ รีวิวอีเมล์ของเราเราก่อนกดส่ง สรุปได้ดังนี้
- ตรวจเช็คไวยากรณ์ว่าถูกต้องตามหลักภาษาอังกฤษหรือไม่
- ตรวจเช็คคำผิด และการสะกดคำจาก Dictionary
- คัดเกลาภาษาให้อ่านลื่นไหลมากขึ้น
- เนื้อหาที่เราเขียนสอดคล้องกับจุดประสงค์ของการเขียนอีเมล์หรือไม่
- หากเราเป็นผู้รับอีเมล์จะรู้สึกอย่างไรกับอีเมล์ฉบับนี้
- ถ้าไม่รีบมาก ลองให้เพื่อนร่วมงานหรือคนรู้จักลองอ่านและให้ความเห็นดู
หลังจากเราตรวจเช็คและรีวิวอีเมล์ของเราเรียบร้อยแล้ว ก็อย่าลืมตรวจเช็คว่าเราได้ใส่ข้อมูลติดต่อกลับลงใน Signature ครบถ้วนดีแล้วหรือยัง จากนั้นก็คลิก Send เพื่อส่งก็เป็นอันเสร็จภารกิจ ทางทีดี เราควร copy email ของเราหรือทำโฟลเดอร์แบบฟอร์มอีเมลที่เราเขียนขึ้นให้เป็นหมวดหมู่ คราวหน้าจะได้หยิบฟอร์มเก่ามาแก้ไขรายละเอียดเพื่อเพิ่มความรวดเร็วและความสะดวกสบายใน การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษ เพื่อการติดต่อประสานงานมากขึ้นในอนาคต

สรุป
การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ ให้ฝรั่งที่เป็นผู้รับอีเมล์รู้สึกประทับใจในความเป็นมืออาชีพและทักษะชั้นเชิงการใช้ภาษาของเราไม่ใช่เรื่องที่ยากเลย หากเราจับจุดและแบบแผนการเขียนอีเมล์ในแบบของเราได้ หวังว่าผู้อ่านจะสามารถนำ เทคนิคการเขียนอีเมล์ 7 ประการข้างต้นไปปรับใช้กับหน้าที่การงานและการติดต่อประสานงานได้ไม่มากก็น้อย การเขียนอีเมล์เป็นภาษาอังกฤษ อาจเป็นสิ่งที่ดูน่ากลัวสำหรับใครหลายคน แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อเราตั้งใจและทุ่มเทเวลาให้กับมันแล้ว ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้อย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
หากท่านใดยังไม่มี อีเมล์สำหรับใช้งาน ก็สามารถ สมัครอีเมล์ใหม่ Gmail และ สมัครอีเมล์ใหม่ Hotmail ได้แบบง่ายๆ ด้วยการทำตามขั้นตอนที่เราได้เรียบเรียงไว้ ใช้เวลาไม่เกิน [2 นาที] ก็เป็นอันเสร็จสิ้น


แถมเพิ่มเติม
คำลงท้าย สำหรับการเขียน อีเมล์ ภาษาอังกฤษธุรกิจ
คำลงท้ายอีเมล์ภาษาอังกฤษ แบบมาตรฐาน
– Best regards
– Kind regards
– Regards
– With Best regards
คำลงท้ายอีเมล์ภาษาอังกฤษ แบบไม่เป็นทางการ
– Cheers
– Have a nice weekend
– Hope to hear from you soon
-All the best
คำลงท้ายอีเมล์ภาษาอังกฤษ สำหรับการติดต่อธุรกิจ
– Yours truly
– Yours faithfully
– Sincerely yours
– Yours sincerely
ข้อมูลอ้างอิง: Email and Commercial Correspondence – Adrian Wallwork
Tag: การเขียนอีเมล์, การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษ, การเขียนอีเมล์ภาษาอังกฤษธุรกิจ, สมัครอีเมล์ใหม่, สมัครอีเมล์ใหม่ Gmail, สมัครอีเมล์ใหม่ Hotmail, คำลงท้ายอีเมล์ภาษาอังกฤษ