“ฟรีแลนซ์ก็ต้องมีบ้าน” สำหรับท่านที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นนักดนตรี นักแสดง ช่างศิลป์หรือเป็นพ่อค้าแม่ค้า เมื่อต้องการมีบ้านสักหนึ่งหลัง ก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้” เพราะด้วยข้อจำกัดด้านหลักฐานแสดงรายได้ ซึ่งอาจจะมีไม่แน่นอนส่งผลให้เหล่าธนาคารมักจะปฏิเสธการอนุมัติสินเชื่อจนเป็นปัญหาว่า “ไม่ใช่พนักงานประจำ ซื้อบ้านยังไง” วันนี้เพื่อให้ทุกท่านได้รับคำตอบหรือแนวทางในการสร้างความฝันให้เป็นจริง เราจึงมาพร้อมกับบทความแนะนำวิธีการขอสินเชื่อบ้านสำหรับทุกท่านที่ไม่ใช่พนักงานประจำ มาดูกันเลย
ทำไมพนักงานประจำถึงซื้อบ้านได้ง่าย
หากท่านประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำหรือข้าราชการที่มีรายได้ประจำ มีเงินเดือนที่เข้าตรงเวลาทุก ๆ เดือน อะไร ๆ ก็ดูเหมือนจะง่ายและสะดวกไปหมด เพราะด้วยเอกสารแสดงรายได้ซึ่งจะเป็นหลักประกันสำคัญ ที่จะส่งผลให้ธนาคารสามารถไว้วางใจได้ว่าท่านจะสามารถหาเงินหรือมีเงินเพียงพอเพื่อมาชำระหนี้หรือจ่ายสินเชื่อรายการต่าง ๆ ได้ ประกอบกับหน้าที่การงาน ตำแหน่งงานที่ทำ ซึ่งสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการพิจารณาสินเชื่อบ้านได้ เพราะท่านจะมีเงินโบนัส ค่าเบี้ยเลี้ยง เงินชดเชยต่าง ๆ ซึ่งจุดนี้จึงเป็นประเด็นที่ทำให้กลุ่มอาชีพพนักงานประจำและข้าราชการ จึงสามารถขอสินเชื่อบ้านได้ผ่านฉลุย แต่สำหรับกรณีท่านที่ไม่ใช่ พนักงานประจำ ซื้อบ้านยังไง ให้ผ่านให้ได้รับการพิจารณา วันนี้เราจึงเข้าไปสืบค้นข้อมูลและรายละเอียดซึ่งมีความน่าสนใจและจะเป็นเคล็ดลับให้ท่านสามารถกู้ซื้อบ้านได้สบาย ๆ แม้จะประกอบอาชีพอิสระ มาดูกันเลย
ไม่ใช่พนักงานประจำ ซื้อบ้านยังไง
จากข้อมูลเชิงลึกที่เราได้รับจากบริษัทและโครงการบ้านจัดสรรชั้นนำหลาย ๆ ต่างให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการขอกู้ซื้อบ้าน โดยสำหรับท่านที่ไม่ใช่ พนักงานประจำ ซื้อบ้าน ยังไงให้ผ่านนั้น เรามีเคล็ดลับและแนวทางการเตรียมตัวและเตรียมเอกสารมาฝากทุกท่าน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ดังนี้
1.จัดการหนี้สิน จัดการตัวเอง
ทุกอย่างต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ปัญหาที่จะส่งผลให้ท่านไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อบ้านอย่างแน่นอนก็คือ ปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือกล่าวโดยง่ายคือ การมีหนี้สินที่มีจำนวนมากกว่ารายได้ ซึ่งสำหรับท่านที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า เพียงการหาหลักฐานแสดงรายได้ที่จะทำให้ธนาคารไว้วางใจอนุมัติวงเงินสินเชื่อบ้านให้นั้นก็ยากพออยู่แล้ว แต่หากท่านยิ่งมีจำนวนหนี้มากมาย ก็จะส่งผลให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อได้ง่าย ๆ ดังนั้น หากมีหนี้เยอะ ท่านจะต้องรีบเคลียร์ และแสดงให้ธนาคารเห็นว่าท่านพร้อมที่จะรับภาระการผ่อนชำระสินเชื่อบ้านซึ่งกำลังจะรับจากธนาคารนั้นเอง เรียกได้ว่ามีหนี้ที่ไหนให้รีบปิดให้หมดก่อน
2.เตรียมเอกสารและหลักฐานทางการเงินให้พร้อม
แม้ท่านจะไม่มีสลิปเงินเดือนหรือไม่สามารถออกหนังสือรับรองเงินเดือนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกรณี ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เป็นพ่อค้าแม่ค้า หรือเป็นเจ้าของกิจการ ทุกท่านจะสามารถใช้เอกสารแสดงรายได้อื่น ๆ เพื่อเป็นการทดแทนได้ ไม่ว่าจะเป็น รายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 – 12 เดือน/ หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือการจดทะเบียนการค้า/ เอกสารแสดงการจ่ายภาษี เช่น ใบทวิ 50 เอกสารการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งทั้งหมดนั้นจะสามารถใช้ทดแทนสลิปเงินเดือนได้ทันที หมดความกังวลเรื่องการประกอบอาชีพอิสระไปได้เลย ทั้งนี้สำหรับกรณีที่ท่านยื่นขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับโครงการสินเชื่อที่มีความเฉพาะเจาะจง ธนาคารจะสามารถให้คำแนะนำและพร้อมนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารซึ่งจะต้องนำมาใช้เป็นหลักฐานทางการเงินแก่ท่านได้
3.เลือกธนาคาร และโครงการสินเชื่อที่เหมาะกับท่าน
จะเลือกเสื้อผ้าสวมใส่ ก็ต้องเลือกและพิจารณาตัวที่เหมาะสมและเข้ากับตัวเรา การเลือกซื้อบ้านก็เช่นเดียวกัน เพราะไม่เพียงจะเลือกบ้านหรือโครงการสินเชื่อบ้านเพื่อที่อยู่อาศัยที่มีเงื่อนไขและมีสิทธิพิเศษ วัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่เข้ากับตัวเราแล้ว ท่านควรเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับอาชีพ โดบข้อกำหนดและเงื่อนไขทุกรายการนั้นจะต้องมีความสอดคล้องและเปิดโอกาสให้พิจารณาอนุมัติเงินให้กับกลุ่มอาชีพอิสระ ฟรีแลนซ์ ไม่ใช่มุ่งเน้นให้สินเชื่อเฉพาะพนักงานประจำ โดย ณ เวลานี้ ก็มีธนาคารหลายแห่ง ที่มีความพร้อมและเปิดโอกาสให้ท่านที่ประกอบอาชีพอิสระ สามารถเตรียมเอกสารและพร้อมออกโครงการสินเชื่อบ้านให้ฟรีแลนซ์ ซึ่งจะมีการกำหนดเอกสารแสดงรายได้ที่แตกต่างออกไป เช่น ให้ยื่น ใบ 50 ทวิหรือภาพการประกอบกิจการควบคู่ไปกับรายการเดินบัญชีย้อนหลัง 6 – 12 เดือน
4.เตรียมเงินออม
ในส่วนนี้แม้ว่าบางธนาคารอาจจะไม่มีการเรียกหรือขอดูข้อมูลในส่วนของเงินฝาก แต่ถ้าทุกท่านมีการเก็บออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลให้มีจำนวนเงินฝากเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทุก ๆ เดือน ทางธนาคารย่อมเห็นศักยภาพในการแบกรับภาระหนี้บ้าน ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และจะยินยอมอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้ท่านได้อย่างแน่นอน ทั้งนี้ในกรณีของเงินฝากนั้น สามารถเป็นได้ทั้งในรูปแบบของการฝากประจำ สลากออมสิน หรือการออมในลักษณะอื่น ๆ โดยประเด็นนี้จะสามารถเสริมนำให้ท่านยื่นสมัครสินเชื่อบ้านกับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ท่านมีเงินฝากอยู่ได้อีกด้วย
และนอกจากประเด็นสำคัญ ๆ ที่เราได้กล่าวไปแล้วสำหรับการเตรียมตัวก่อนการสมัครสินเชื่อบ้านนั้น หากท่านมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ทุกท่านสามารถดำเนินการเข้าติดต่อเจ้าหน้าที่ให้บริการของทุกธนาคารได้ทันที โดยให้มุ่งสอบถามไปที่การขอสินเชื่อบ้าน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกธนาคารย่อมยินดีและพร้อมให้ข้อมูลกับท่านแน่นอน
อ้างอิง 1